หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561 มีข้อกำหนดหลักสูตรใน มคอ. 2 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ชื่อสถาบันอุดมศึกษา : มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
คณะ/สาขาวิชา : คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Science Program in Medical Science
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การแพทย์)
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : วท.บ. (วิทยาศาสตร์การแพทย์)
ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Science (Medical Science)
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) : B.Sc. (Medical Science)
รูปแบบของหลักสูตร
รูปแบบหลักสูตร : ปริญญาตรี 4 ปี
ประเภทของหลักสูตร : หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการ
ภาษาที่ใช้ : หลักสูตรจัดการศึกษาเป็นภาษาไทย
การรับเข้าศึกษา : รับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างประเทศที่สามารถพูด ฟัง อ่าน เขียน และเข้าใจภาษาไทย อย่างดี
ความร่วมมือกับสถาบันอื่น : เป็นหลักสูตรเฉพาะของมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนโดยตรง
การให้ปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา: ให้ปริญญาเพียงสาขาวิชาเดียว
สถานภาพของหลักสูตรและการพิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบหลักสูตรหลักสูตรปรับปรุง
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) ปรับปรุงจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2556) เริ่มใช้ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โดยได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561
ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังจากหลักสูตร
เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ แล้วจะมีความสามารถ ดังนี้
1) สามารถตรวจวิเคราะห์สิ่งส่งตรวจต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามมาตรฐาน โดยสามารถประกอบอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้ช่วยวิจัย ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
2) สามารถนำความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจไปประยุกต์ใช้/ต่อยอด ดำเนินการธุรกิจทางการแพทย์ ทั้งภาคเอกชนหรือธุรกิจส่วนตัว
3) มีทักษะพื้นฐานด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และเลือกวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบและเหมาะสม
4) แสดงออกถึงการมีความขยัน อดทน ประหยัด เมตตา ซื่อสัตย์ และกตัญญู
5) มีความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกของการให้บริการ และเคารพกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ขององค์กรและสังคม

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้เข้าศึกษามีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้
1) เป็นผู้มีความรู้สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือมีความรู้เทียบเท่าตามที่ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้
2) มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือโรคอื่นที่สังคมรังเกียจ อันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
3) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาของศาล เว้นแต่ในกรณีโทษนั้นเกิดจากความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดอันเป็นลหุโทษ
4) มีความประพฤติดี ไม่เคยถูกไล่ออกจากสถาบันการศึกษาใด เนื่องจากความประพฤติเสื่อมเสีย
5) ไม่เป็นคนวิกลจริต
6) ไม่มีความบกพร่องทางร่างกายที่มีผลต่อการปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์

การคัดเลือกผู้สมัครเข้าศึกษายึดถือตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1) การสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยโดยตรง
2) การสอบคัดเลือกร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
3) การคัดเลือกโดยวิธีเทียบโอน หรือสอบคุณวุฒิตามที่กำหนด
4) การรับเข้าตามโครงการพิเศษ
วิทยาศาสตร์การแพทย์ ครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการการทำงานของร่างกายมนุษย์ ตั้งแต่สารเคมีต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย โครงสร้างพันธุกรรมหรือที่เรารู้จักกันว่าดีเอ็นเอ เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย จนไปถึงการทำงานเชื่อมโยงของร่างกายมนุษย์ ที่ช่วยให้ร่างกายเราดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ การทำให้เกิดโรคต่างๆ การป้องกัน และการรักษา ทำให้ปัจจุบันศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความสำคัญเป็นอย่างสูง ในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ เพื่อการป้องกัน การตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคต่างๆ ทำให้บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความสำคัญในการเป็นที่พึ่งของประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งการเผยแพร่ความรู้ การให้คำปรึกษา การให้บริการ และการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่จากการค้นคว้าวิจัย
บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ นับว่าเป็นบุคลากรที่ขาดแคลน เนื่องจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน มีความต้องการบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ในห้องปฏิบัติการทั้งด้านการวิจัย การให้บริการ ด้านการเรียนการสอน ด้านคลินิก และด้านธุรกิจ เป็นต้น เนื่องจากศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครอบคลุมเกือบทุกด้านของพื้นฐานวิชาทางการแพทย์ ได้แก่ เคมี ชีวเคมี เทคโนโลยีชีวภาพ จุลชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์ ประสาทศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา ปรสิตวิทยา อิมมิวโนวิทยา เนื้อเยื่อวิทยา พิษวิทยา นิติวิทยาศาสตร์ เภสัชวิทยา หรือแขนงอื่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ก.พ.อ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 : วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) ที่เน้นลักษณะงานที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจชันสูตรโรค พิสูจน์ยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการในสาขาต่างๆ การเพาะเลี้ยงเชื้อ แยกเชื้อ การผลิตทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา และสารมาตรฐานอื่นๆ การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการระบาดของโรค การตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐาน การตรวจวิเคราะห์วัตถุออกฤทธิ์ต่างๆ ตลอดจนหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี การสอบเทียบวิธีตรวจวิเคราะห์ ตรวจชันสูตร รวมทั้งห้องปฏิบัติการ และพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานวิเคราะห์ วิจัย เป็นต้น รวมทั้งงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้หลักสูตรมีการเสริมสร้างให้บัณฑิตมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองที่ดี สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม และมีศักยภาพในการพึ่งตนเองบนฐานภูมิปัญญาไทย ภายใต้กรอบศีลธรรมอันดีงาน ทำให้บัณฑิตในหลักสูตรมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศักยภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความสามารถในการปฏิบัติงานได้ตามกรอบมาตรฐานและจรรยาบรรณ สามารถสร้างสรรค์งานที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล โดยหลักสูตรจัดอยู่ในกลุ่มหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการ สอดคล้องตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี พ.ศ.2558
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นับเป็นคณะวิชาที่มีศักยภาพในการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันมีรายวิชาเน้นการบริการให้แก่คณะวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านการแพทย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาส่วนใหญ่ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งประกอบด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี และมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน การเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่นักเรียนในการศึกษาต่อเพื่อนำความรู้ ไปประกอบอาชีพที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ มีความรู้ มีความเสียสละ และมีคุณธรรมจริยธรรม ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศต่อไป
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 136 หน่วยกิต

โครงสร้างหลักสูตรตามที่ได้กำหนดไว้ใน มคอ. 2 ดังนี้

เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร
การสำเร็จการศึกษา และการขอรับปริญญา เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ.2552 หมวดที่ 10 การสำเร็จการศึกษาและการขอรับปริญญา (ภาคผนวก ก) ประกาศมหาวิทยาลัย ที่ 123/2559 เรื่อง เงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา (เพิ่มเติม) ของกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่จะต้องผ่านการทดสอบวัดความรู้ทางภาษาอังกฤษ และความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ข้อมูล ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *